ประวัติสำนักงานนิรภัยทหารอากาศ

                   สำนักงานนิรภัยทหารอากาศ  เป็นหน่วยงานมีหน้าที่ดำเนินการด้านกิจการนิรภัยการบินและกิจการนิรภัยภาคพื้นของกองทัพอากาศ ซึ่งกิจการนิรภัยนั้นเกิดขึ้นอย่างไม่เป็นทางการและไม่มีโครงสร้างการจัดหน่วยที่ชัดเจน โดยจะแฝงอยู่ในกิจการการบินนับตั้งแต่กองทัพอากาศมีเครื่องบินประจำการ อย่างไรก็ตามกองทัพอากาศได้มีวิวัฒนาการมาตามลำดับ และกิจการนิรภัยเป็นหนึ่งในกิจการของกองทัพอากาศที่ได้เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการตามวิวัฒนาการนั้น โดยมีประวัติความเป็นมาที่สำคัญตามลำดับห้วงเวลาดังนี้

๒๔๘๐
พ.ศ.๒๔๘๐

ก่อตั้งกองทัพอากาศ ยังไม่มีหน่วยงานรับผิดชอบกิจการนิรภัย


๒๕๐๐

พ.ศ.๒๕๐๐
​กองทัพอากาศได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปดูงานกิจการด้านต่าง ๆ รวมทั้งกิจการ
ด้านนิรภัย ที่ USAF : United State Air Force

๒๕๐๕

พ.ศ.๒๕๐๕​
JUSMAG : Joint United State Military Advisory Group ได้จัดคณะ
เจ้าหน้าที่ Management Engineering Team ของ USAF มาให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการจัดดำเนินงานในสาขางานต่าง ๆ ของกองทัพอากาศ 
ซึ่งข้อเสนอแนะส่วนหนึ่งมีความเห็นว่า กองทัพอากาศควรกำหนดให้มีหน่วยงานรับผิดชอบด้านกิจการนิรภัย

๒๕๐๖

พ.ศ.๒๕๐๖
กองทัพอากาศจึงได้จัดให้มีหน่วยงานรับผิดชอบด้านกิจการนิรภัย  
โดยกำหนดให้กิจการด้านนิรภัยการบินเป็นกองนิรภัยการบิน อยู่ในความ
รับผิดชอบของกองยุทธการ  ขึ้นตรงต่อกองบินยุทธการ ส่วนกิจการด้านนิรภัยภาคพื้นเป็น แผนกความปลอดภัยภาคพื้น อยู่ในความรับผิดชอบของกองการปกครอง ขึ้นตรงต่อกรมกำลังพลทหารอากาศ ตามพระราชกฤษฎีกาการแบ่งส่วนราชการ การกำหนดหน้าที่ของส่วนราชการกองทัพอากาศและการจัดอัตรากองทัพอากาศ พ.ศ.๒๕๐๖ ดังนั้นโครงสร้างการ
จัดหน่วยกิจการด้านนิรภัย จึงนับได้ว่าเกิดขึ้นอย่างเป็นทางการตั้งแต่ช่วงเวลาดังกล่าวเป็นต้นมา

๒๕๐๗

พ.ศ.๒๕๐๗​
งานด้านนิรภัยการบินซึ่งเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติภารกิจการบินโดยตรงได้มีการดำเนินงานต่าง ๆ เพื่อให้การปฏิบัติการบินมีความปลอดภัย อาทิ มีโรงเรียนนิรภัยการบิน มีการสอบสวนเครื่องบินอุบัติเหตุ (เวลาต่อมาใช้คำว่าอากาศยานอุบัติเหตุ) มีการส่งเสริมการพยายามลดอุบัติเหตุการบิน   
โดยในวันที่ ๔ มกราคม พ.ศ.๒๕๐๗ เป็นวันคล้ายวันสถาปนากองบินยุทธการ ในวันดังกล่าวได้จัดให้มีพิธีมอบโล่รางวัลนิรภัยการบินครั้งแรก 
ให้แก่ฝูงบินที่ไม่มีอุบัติเหตุทางการบินเกิดขึ้น ซึ่งได้แก่ ฝูงบินที่ ๑๑ 
แห่งกองบิน ๑  มีนาวาอากาศตรี อาทร โรจนวิภาค เป็นผู้บังคับฝูงบิน 
รับมอบโล่จากพลอากาศเอก บุญชู จันทรุเบกษา ผู้บัญชาการทหารอากาศในสมัยนั้น 

​ส่วนงานด้านนิรภัยภาคพื้นยังไม่ได้มีการดำเนินการใด ๆ จนกระทั่งกองทัพอากาศได้ส่ง นาวาอากาศเอก อรุณ วีระทัต และ นาวาอากาศเอก ธรรมนูญ สาขากร สังกัดกรมจเรทหารอากาศ ไปศึกษาดูงานที่ USAF ซึ่งจากการศึกษาดูงานดังกล่าวพบว่า งานด้านนิรภัยภาคพื้นของ USAF อยู่ในความรับผิดชอบของกรมจเรทหารอากาศ และเพื่อให้มีการปฏิบัติเช่นเดียวกับ USAF จึงได้เสนอแนะผู้บังคับบัญชา ให้มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการจัดส่วนราชการของงานด้านนิรภัยภาคพื้น

๒๕๐๘

พ.ศ.๒๕๐๘
งานด้านนิรภัยภาคพื้นจึงได้โอนจากแผนกความปลอดภัยภาคพื้น กองการปกครอง กรมกำลังพลทหารอากาศ ไปอยู่ในความรับผิดชอบของแผนกนิรภัยภาคพื้น กองเทคนิค กรมจเรทหารอากาศ และได้เริ่มดำเนินงาน
ด้านนิรภัยภาคพื้นอย่างจริงจังตั้งแต่ในช่วงเวลานั้นเป็นต้นมา


๒๕๒๐

พ.ศ.๒๕๒๐
มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการจัดส่วนราชการของกองทัพอากาศอีกครั้ง  โดยส่วนหนึ่งมีการยุบกองบินยุทธการ ดังนั้นจึงโอนงานของกองนิรภัย
การบิน จากกองบินยุทธการ มาอยู่ในความรับผิดชอบของกองนิรภัยการบิน กรมจเรทหารอากาศ

๒๕๒๓

พ.ศ.๒๕๒๓
มีการปรับโครงสร้างงานด้านนิรภัยภาคพื้นจาก แผนกนิรภัยภาคพื้น 
กองเทคนิค กรมจเรทหารอากาศ ปรับเป็น กองนิรภัยภาคพื้น 
กรมจเรทหารอากาศ โดยมีระดับหัวหน้ากองเป็นผู้บังคับบัญชารับผิดชอบ

๒๕๓๙

พ.ศ.๒๕๓๙
​มีการปรับโครงสร้างงานด้านนิรภัยภาคพื้นอีกครั้ง โดยยกระดับจากเดิม  
ซึ่งมีหัวหน้ากองเป็นผู้บังคับบัญชารับผิดชอบ ยกระดับเป็น 
ผู้อำนวยการกองเป็นผู้บังคับบัญชารับผิดชอบ


๑ เมษายน ๒๕๕๒

พ.ศ.๒๕๕๒

จากการดำเนินงานด้านนิรภัยการบินและนิรภัยภาคพื้นภาคใต้โครงสร้างการจัดส่วนราชการของสำนักงานนิรภัยทหารอากาศ (เพื่อพลาง) ในปี พ.ศ.๒๕๕๐ ถึง ๒๕๕๑ พบว่า การปฏิบัติงานด้านนิรภัยได้ผลดี เป็นที่ยอมรับของทุกส่วนราชการกองทัพอากาศและหน่วยงานภายนอก รวมทั้งไม่มีปัญหาข้อขัดข้องในการปฏิบัติงาน 

​ดังนั้นในการปรับโครงสร้างตามการจัดอัตรากองทัพอากาศ พ.ศ.๒๕๕๒ ตามพระราชกฤษฎีกาการแบ่งส่วนราชการ การกำหนดหน้าที่ของส่วนราชการกองทัพอากาศ จึงได้ปรับสำนักงานนิรภัยทหารอากาศ (เพื่อพลาง) เป็นอัตราปกติ และให้เป็นหน่วยงานระดับกรม ขึ้นตรงต่อกองทัพอากาศ    โดยใช้ชื่อหน่วยงานว่า "สำนักงานนิรภัยทหารอากาศ" ตั้งแต่ ๑ เมษายน ๒๕๕๒ มีหน้าที่ดำเนินการด้านการนิรภัยการบินและการนิรภัยภาคพื้นตามมาตรฐานของกองทัพอากาศและมาตรฐานสากล กับมีหน้าที่จัดการความรู้ ควบคุม ประเมินผล และตรวจตรากิจการในสายวิทยาการด้านการนิรภัย โดยมีผู้อำนวยการสำนักงานนิรภัยทหารอากาศ อัตราพลอากาศตรี เป็นผู้บังคับบัญชาการรับผิดชอบ ซึ่งผู้อำนวยการสำนักงานนิรภัยทหารอากาศคนแรก ได้แก่ พลอากาศตรี นิวัต เนื้อนุ่ม

ปัจจุบัน

เรียบเรียงโดย น.อ.หญิง สุวชิรา นาคมาโนช รอง ผอ.กนพ.สนภ.ทอ. เมื่อ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒